วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

หนังตะลุง

หนังตะลุงเป็นมหรสพพื้นเมืองของภาคใต้ ควบคู่กับมโนราห์ถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาเกือบ 2 ศตวรรษ วิวัฒนาการให้เกิดความเหมาะสมกับการสมัยตลอดมา ถ้าเราจะพูดว่าหนังตะลุงเป็นสัญลักษณ์ของภาคใต้ ก็คงไม่ไกลความจริงนัก
หนังตะลุงมีอิทธิพล มีบทบาทต่อชาวชนบทมาก เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวชนบทก็ว่าได้ การพากย์หนังตะลุงเป็นศิลปสูงส่ง นอกจากให้ความบันเทิงแล้ว ให้ความรู้ให้ความคิด หนังตะลุงเป็นสื่อกลางที่ดีระหว่างรัฐกับประชาชน
หากดูหรือฟังอย่างผิวเผิน อาจรู้สึกว่าเป็นการเล่นที่ให้ความรื่นเริงอย่างธรรมดา แต่ถ้าดูหรือฟังอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นการละเล่นที่น่าทึ่งมาก ยากที่จะหามหรสพประเภทใดมาเทียบเคียงได้ นายหนังตะลุงคนเดียวต้องเชิดต้องพากย์รูปหนังทุกตัว เฉพาะตัวตลกในการแสดงเรื่องหนึ่งๆต้องใช้ประมาณ 15 ตัว ใช้เสียงพูดแตกต่างกันทุกตัว เสียงพระ เสียงนาง เสียงยักษ์ เสียงคนชรา สามารถทำได้อย่างกลมกลืน หนังตะลุงไม่มีฉากใดๆประกอบเหมือนโขน ภาพยนตร์ละคร มีแต่จอผืนเดี่ยวเป็นฉาก ต้องสร้างภาพพจน์ด้วยบทพากย์ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น คนๆ เดียวสามารถตรึงคนดูไว้ได้ตลอดคืน
หนังตะลุงเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของวัฒนธรรมภาคใต้ ในปัจจุบันนี้ยังคงมีหนังตะลุงที่ยังแสดงอยู่ทั่วภาคใต้อีกนับร้อยคณะ จังหวัดที่มีหนังตะลุงมากที่สุดคือ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ตรัง มีจำนวนพอๆกัน นอกจากนั้มีจำนวนค่อนข้างประปราย ปัญหาอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการแสดงหนังตะลุงในปัจจุบัน คือขาดลูกคู่ ลูกคู่คือผู้บรรเลงเครื่องประโคมดนตรี หาผู้ฝึกหัดใหม่แทบไม่มี
ความฝันของท่านผู้เขียนเรื่อง"ความรู้เรื่อง หนังตะลุง" คือท่านอาจารย์พ่วง บุษรารัตน์ว่า "อยากให้ใช้เทคโนโลยี่เพิ่มขึ้น เช่น ทำอย่างไรจึงจะมีฉากจริงประกอบ น่าจะฉายภาพช่วย ทำอย่างไรเวลาใช้อภินิหารจึงเกิดแสง เกิดกลุ่มหมอกควัน วันหนึ่งความฝันของผู้เขียนอาจเป็นความจริงก็เป็นได้" และบัดนี้ Webmaster สามารถทำให้ความฝันของท่านบางอย่างเป็นจริงได้แล้ว เช่นบทฤาษี บทออกยักษ์ บทตลก แต่เป็นที่น่าเสียดายท่านได้ล่วงลับไปเสียแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น